“อพท.” ได้เปิดเส้นทางใหม่ ตามรอยเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 ณ จังหวัดราชบุรี เมื่อเอ่ยถึง “ราชบุรี” คนมักจะนึกถึงตลาดน้ำดำเนินสะดวกแต่รู้หรือไม่ว่าที่จังหวัดนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายที่พระมหากษัตริย์เคยเสด็จไป แต่ประชาชนคนไทยยังไม่เคยไปเลย คราวนี้แหละ “อพท.” จะพาเราไปเยือนสถานที่เหล่านั้นกัน
สถานที่แรก วัดโชติทายการาม สถานที่ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมใจชุมชนคลองดำเนินสะดวก เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 3 หมู่ที่ 1 ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวกจ.ราชบุรี
สร้างขึ้นเมื่อปี เมื่อ พ.ศ. 2417 ด้วยศรัทธาของคุณปู่มั่ง มั่งมี คหบดีผู้มีใจกุศล ถวายที่ดินของตนเพื่อสร้างวัด พร้อมทั้งบอกบุญชาวบ้านรวมเงินได้ 1 ชั่งเศษ ก่อสร้างกุฏิ 1 หลัง จากนั้นได้นิมนต์พระภิกษุช่วง จากวัดบางคนฑีในมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
สถานที่สำคัญ ในวัดคือ พระอุโบสถที่ประดิษฐาน หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย – ลพบุรี เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างในจังหวัดลพบุรี
และยังมี มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง พิพิธภัณฑ์วัดโชติฯ พลับพลาที่ประทับซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจในวัด
เหตุการณ์สำคัญ
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมพ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เสด็จประพาสต้นโดยทางเรือ ทรงให้นำเรือพระที่นั่งเทียบหน้าวัดตรงศาลาการเปรียญ หลวงพ่อช่วงได้ทราบจึงนำพระลูกวัด 5 รูป ลงมาสวดชัยมงคลคาถาต้อนรับ พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก ทรงถวายปัจจัยเพื่อบูรณะวัด 10 ชั่ง ถวายพระรูปละ 1 ตำลึง และแต่งตั้งพระอธิการช่วง เป็นพระครูวรปรีชาวิหารกิจ ณ ศาลาท่าน้ำของวัดโชติฯ และโปรดเกล้าฯ ให้ทหารมหาดเล็กจัดที่ประทับบนศาลา ทรงให้พนักงานเครื่องต้นประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวย ที่ศาลาท่าน้ำศาลาการเปรียญ
วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 เวลา 12.00 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศ ถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดโชติทายการาม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงในเทศกาลออกพรรษา ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินของประชาชนชาวดำเนินสะดวกที่ ปรารถนาจะได้เข้าเฝ้าชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์
บ้านเจ๊กฮวดมหาดเล็ก
เมื่อกว่า 100 ปีก่อน รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสต้นแถบเมืองราชบุรี – สมุทรสงคราม พระองค์นำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าหน้าวัดโชติทายการาม และได้เสร็จพระราชดำเนินเพื่อตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของประชาชนตามคลองลัดพลี(คลองซอย) ผ่านบ้าน นางผึ้ง แซ่เล้า ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ เจ้าของบ้านนำ หอม กระเทียม ตากบนหลังคาเรือน
เมื่อนางผึ้งเห็นเรือคนแปลกหน้า เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนางก็แสดงความมีน้ำใจ ร้องเชิญให้แวะที่บ้าน พระองค์จึงเสด็จขึ้นบนบ้าน พร้อมให้ชายอายุประมาณ 20 ปีเศษ ชื่อ“เจ๊กฮวด” เตรียมสำรับใส่กับข้าว และเชิญให้พระองค์เสวย
ในขณะที่ กำลังเสวย เจ๊กฮวดซึ่งมานั่งยองๆ ดูพระองค์ แล้วก็หันไปดูพระบรมฉายาลักษณ์ที่หิ้งบูชา แล้วเอ่ยขึ้นว่า “คล้ายนัก คล้ายนักขอรับ” พระองค์จึงตรัสถามว่า “คล้ายนัก คล้ายนักคล้ายอะไร” เจ๊กฮวดบอกว่า “คล้ายรูปที่บูชาไว้” พูดแล้วเจ๊กฮวดก็นำผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน นางผึ้งเห็นลูกชายกราบก็กราบตาม พระองค์ตรัสว่า “แน่ใจหรือ” เจ๊กฮวดก็ตอบว่า “แน่ใจขอรับ” พระองค์จึงตรัสชมเจ๊กฮวดว่า “ฉลาดและตาแหลมดี จะตั้งให้เป็นมหาดเล็กเอาไหม”
นายฮวดกราบทูลว่า “เอาขอรับ” แล้วตรัสสั่งให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพเชิญพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ๊กฮวด แซ่เล้า เป็นมหาดเล็กของพระองค์ แล้วรับสั่งให้เข้าไปเยี่ยมพระองค์ท่านที่บางกอกตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวกจึงเรียกเจ๊กฮวด แซ่เล้าว่า “เจ๊กฮวดมหาดเล็ก”
สวนเกษตรแม่ทองหยิบ ภูมิปัญญาวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
จากการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุนของการเกษตรทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาที่มีราคาสูงขึ้น จึงทำให้แม่ทองหยิบคิดค้นการปลูกพีชแบบ "ต้นไม้กอดกัน" คือ ปลูกพืชสองอย่างในหลุมเดียวกัน พืชที่ปลูกด้วยกันมันจะเกื้อกูลกันเอง ทำให้ไม่ต้องหาซื้อไม้ค้ำพยุงต้น ทั้งยังช่วยช่วยลดค่าแรง และลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้มากขึ้น และแมทองหยิบก็ได้หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทน
จนทำให้สวนแห่งนี้เกิดความโดดเด่นกลายแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและยังมีกิจกรรม “ถ่อเรือร่องสวนเกษตรแม่ทองหยิบ” เป็นการถ่อเรือกลางสวนสวยท่ามกลางพันธุ์ไม้เกษตรและผลไม้ตามฤดูกาลที่มีทั้งพืชผักสวนผสม ไม่ว่าจะเป็น มะนาว มะพร้าว ส้มโอ มะละกอ กล้วย มะขาม ละมุด และอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนั้นที่แห่งนี้ยังได้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเกษตรกรในพื้นที่กว่า 30 ราย ให้สามารถนำผลิตภัณฑ์มาจัดจำหน่ายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาชมสวนให้หาซื้อเป็นของฝากกลับไปได้
ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก ตลาดดั้งเดิมแห่งแรกของราชบุรี
ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก (เหล่าตั๊กลัก แปลว่า ตลาดเก่า) ที่แห่งนี้คือต้นกำเนิดของ “ตลาดน้ำดำเนินสะดวก”
กล่าวย้อนไปในปี พ.ศ.2510 ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้นำวิถีชีวิตชาวคลองอันงดงามเก่าแก่กว่า 140 ปี ของตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก หรือตลาดน้ำปากคลองลัดพลีมาเผยแพร่สู่สายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก จนเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใครๆ ก็อยากเดินทางมาสัมผัส
ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วและชาวจีนไหหลำ อาชีพเป็นชาวสวนและทำการค้าขายตามลำคลอง ในอดีตตลาดน้ำแห่งนี้เป็นที่เฟื่องฟูมากแต่เมื่อมีการสร้างถนนและมีตลาดน้ำดำเนินสะดวก(ปัจจุบัน) ขึ้นมาก็ทำให้ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนและสุดท้ายก็ปิดตัวเองในที่สุด….
แต่ปัจจุบันตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อสัมผัสมุมการค้าในอดีตที่ร้านค้ายังเปิดให้บริการอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำสูตรโบราณ ร้านข้าวแห้ง ร้านกาแฟฮกหลีกาเฟยผัดไทยอาม่าก๋วยจั๊บน้ำพะโล้สูตรโบราณ หรือของหวานอย่าง ไอศกรีมกะทิโบราณ น้ำเต้าหู้ รวมทั้งผลไม้มากมาย
ที่สำคัญยังมีพิพิธภัณฑ์ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จัดแสดงความรุ่งเรืองทางการค้าในอดีต เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ภายในพิพิธภัณฑ์ จะมีเรือพายสำหรับค้าขายของชาวบ้าน เครื่องรีดทอง อุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น
สุดท้ายนี้ก็ต้องของขอบคุณทาง อพท. ที่ได้สร้างเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆให้นักท่องเที่ยวได้มีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น และหวังว่าเมืองไทยของเราจะมีเที่ยวใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกจนเที่ยวกันไม่ไหวเลยทีเดียว